‘ศักดิ์สยาม’ ตั้งเป้า 3 ปี ไทยเป็นฮับในอาเซียน ถ่ายทอดนวัตกรรมและเทคโนโลยีระบบราง

เมื่อไม่นานมานี้ (15 ธ.ค. 65) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือ ‘ผนึกกำลังพันธมิตรพัฒนาเทคโนโลยีระบบรางของภูมิภาค’ ระหว่างสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) และกลุ่มธุรกิจระบบรางฝรั่งเศส โดยการสนับสนุนของสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ ไม่มีกำหนดกรอบระยะเวลา เป็นการต่อยอดความร่วมมือการผนึกกำลังพัฒนาศักยภาพบุคลากร เทคโนโลยี และนวัตกรรม ระหว่างสถาบันวิจัยฯ และกลุ่มอุตสาหกรรมระบบรางจากประเทศฝรั่งเศส 5 บริษัท โดยเป็นบริษัทที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีระบบราง ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับโลก

นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า ความร่วมมือนี้จะทำให้เกิดการทำงานร่วมกันที่เป็นรูปธรรมเรื่องต่าง ๆ ได้แก่

1.การสร้างสถาบันพัฒนาบุคลากรระบบราง ที่เป็นกลไกการพัฒนาบุคลากรระบบราง ทั้งระดับช่างเทคนิคทักษะสูง และระดับวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ โดยร่วมกับสถาบันและหน่วยงานเครือข่าย เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้อง

2.การสร้างความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนฝรั่งเศส และภาคเอกชนไทย เพื่อสร้างอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนระบบรางภายในประเทศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย Thai First ของกระทรวงคมนาคม โดยไม่เพียงแค่ผลิตได้ แต่คาดหวังให้เกิดผู้ประกอบการไทยที่มีความเข้มแข็ง สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้

และ 3.การวิจัยและพัฒนาร่วมกัน และถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมระบบรางชั้นแนวหน้าระหว่างกลุ่มธุรกิจระบบรางชั้นนำของฝรั่งเศส และเครือข่ายการวิจัยและพัฒนาของประเทศไทย เพื่อส่งเสริม และผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) การถ่ายทอด และการสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมของภูมิภาคอาเซียนภายใน 2-3 ปีหลังจากนี้

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ดังนั้นเวลานี้ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องรับความรู้ และเทคโนโลยีจากหลากหลายประเทศที่มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งนอกจากจะนำความรู้เพื่อมาใช้ผลิตบุคลากรในการเตรียมรองรับทางคู่ 4,000 กิโลเมตร (กม.) ทั่วประเทศ และสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับประเทศไทยแล้ว ยังสามารถนำไปถ่ายทอดให้กับประเทศอื่นๆ เพื่อร่วมพัฒนาระบบขนส่งทางรางในระดับอาเซียนด้วย

นายศักดิ์สยาม กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันนอกจากกระทรวงคมนาคมจะเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมแล้ว ยังให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ โดยมีแผนจะให้พื้นที่ของ รฟท. โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ที่ปลอดมลพิษ ซึ่งในอนาคตจะมีการย้ายโรงซ่อมรถไฟออกจากพื้นที่กรุงเทพฯ

นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาว่าจะย้ายไปอยู่ในพื้นที่ใดจึงจะเหมาะสมที่สุด เบื้องต้นคาดว่าจะย้ายไปอยู่ในพื้นที่ จ.สระบุรี ขณะเดียวกันยังเน้นให้ รฟท. พัฒนาพื้นที่ของ รฟท. เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์มากขึ้น รวมทั้งเร่งจัดหารถไฟพลังงานไฟฟ้า (อีวี) เข้ามาให้บริการประชาชนโดยเร็ว

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ช่วงกลางเดือน ม.ค. 2566 จะนำคณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคม และสื่อมวลชน ร่วมทดลองนั่งรถไฟฟ้า ซึ่งเป็นรถไฟที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ โดยเป็นความร่วมมือของ รฟท. สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน หากทดสอบแล้วเป็นผลสำเร็จ สามารถเดินรถ และลดมลภาวะได้จริง จะถือเป็นการปฏิวัติเรื่องการพัฒนาระบบรถไฟไทยในการใช้พลังงานแบตเตอรี่ และจะมีการเร่งขยายผลต่อไป เพราะในปี 2566 รฟท. จะย้ายการให้บริการรถไฟทางไกลมาที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ด้วย จึงจำเป็นต้องใช้รถประเภทดังกล่าว เพื่อไม่ให้เกิดปัญหามลภาวะภายในสถานี

ที่มา : https://www.khaosod.co.th/economics/news_7415688