Thursday, 28 March 2024
ประเทศไทย

นายกฯ เคาะแผนลงทุนอุตสาหกรรมระเบียงเศรษฐกิจ 4 ภาค

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) เห็นชอบการกำหนดกิจการเป้าหมายและสิทธิประโยชน์ สำหรับพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ทั้ง 4 ภาค โดยกำหนดคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมายสำหรับพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจทั้ง 4 ภาค เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเป็นการเฉพาะและเหมาะสมตามศักยภาพของแต่ละพื้นที่ 

โดยมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เสนอคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพิจารณากำหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษตามแนวทางที่ กพศ. ให้ความเห็นชอบต่อไป โดยมีพื้นที่และคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย ดังนี้

(1) ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (Northern Economic Corridor : NEC - Creative LANNA) ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง ส่งเสริมคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ 
1) อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ 
2) อุตสาหกรรมดิจิทัล
3) อุตสาหกรรมท่องเที่ยว และท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) 
และ 4) อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร 

(2) ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeastern Economic Corridor : NeEC - Bioeconomy) ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย ส่งเสริมคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ 
1) อุตสาหกรรมชีวภาพ 
และ 2) อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร 

(3) ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง - ตะวันตก (Central - Western Economic Corridor : CWEC) ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นครปฐม สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี ส่งเสริมคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ 
1) อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร 
และ 2) อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 

(4) ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor : SEC) ในพื้นที่จังหวัดชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ส่งเสริมคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ 
1) อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร 
2) อุตสาหกรรมชีวภาพ 
และ 3) อุตสาหกรรมท่องเที่ยว และท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) 

ทำไมไทยต้องนำเข้าน้ำมัน? ทั้งที่ผลิตน้ำมันได้

รู้ไหม? ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ผลิตน้ำมัน แล้วไม่พอต่อการใช้งานของคนในประเทศ

ราคาน้ำมันที่มีการผันผวนตลอดเวลา ไม่ว่าจะเนื่องด้วยเหตุผลใดก็ตาม ย่อมส่งผลต่อความไม่พอใจของประชาชนมาตลอด และเมื่อไม่พึงพอใจก็จะเกิดการเปรียบเทียบ ในวิกฤติราคาน้ำมันทุก ๆ ครั้ง ดังที่จะเห็นจนคุ้นตา คือการที่มักมีบางกลุ่ม เปรียบเทียบราคาพลังงานไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะมาเลเซีย

เมื่อไม่นานมานี้ ก็มีกรณีผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่ง ที่ลงทุนเดินทางไปถึงมาเลเซียเพื่อเติมน้ำมันที่นั่น ก่อนจะเปรียบเทียบราคาน้ำมันของไทยกับมาเลเซียลงสื่อโซเชียล ส่งผลให้รัฐบาลมาเลเซียสั่งการให้มีการตรวจสอบผู้มาขอรับบริการว่าเป็นพลเมืองมาเลเซียหรือไม่ เนื่องจากราคาน้ำมันของมาเลเซีย ได้รับการชดเชยราคาโดยตรงด้วยภาษีของคนมาเลเซีย

แต่หากมองย้อนกลับไปที่ประเทศลาว จะเห็นว่าประเทศลาวนั้น มีราคาน้ำมันที่สูงกว่าไทยตลอด เนื่องจากว่าลาวนั้น ไม่มีแหล่งเชื้อเพลิงของตนเอง ราคาน้ำมันในลาว จึงเป็นราคาที่เพิ่มค่าใช้จ่ายในการขนส่งจากประเทศไทยเข้าไปร่วมด้วย เป็นสาเหตุให้มีราคาที่สูงกว่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้นั่นเอง

นั่นทำให้คนลาวบางส่วน เข้ามาเติมน้ำมันในประเทศไทย และประเทศไทยก็สั่งห้ามเช่นเดียวกับมาเลเซีย

หันกลับมาพิจารณาถึงที่มาของราคาน้ำมัน ประเทศที่มีความสามารถในการขุดเจาะน้ำมันได้เอง และกลั่นน้ำมันได้เอง จะมีราคาน้ำมันสำหรับการใช้ในประเทศที่มีราคาถูกลงมากกว่าประเทศที่ต้องนำเข้าพลังงานทั้งหมด

แต่จะถูกมากน้อยเท่าไรนั้น ขึ้นอยู่กับว่า ประเทศนั้น ๆ มีปริมาณน้ำมันสำรอง และกำลังการผลิตมากเพียงพอที่จะตอบสนองของคนทั้งประเทศหรือไม่

จากข้อมูลของ Worldometer ระบุว่า ใน พ.ศ. 2559 มาเลเซียมีปริมาณน้ำมันสำรอง 3,600,000,000 บาร์เรล มากเป็นอันดับที่ 28 ของโลก ในขณะที่ประเทศไทยมีเพียง 404,890,000 บาร์เรล อยู่อันดับที่ 50 อีกทั้งมีปริมาณน้อยกว่ามาเลเซียถึง 8.9 เท่า

นอกจากนี้ กำลังการผลิตของมาเลเซียนั้น เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ สำหรับประชากรเพียงแค่ 32 ล้านคน มีน้ำมันเหลือใช้มากถึงวันละ 54,168 บาร์เรลต่อวัน ในขณะที่ไทย ทั้ง ๆ ที่ผลิตได้น้อยกว่า แต่กลับมีอัตราการบริโภคที่สูงกว่า จนทำให้กำลังการผลิตต่อวัน น้อยกว่าอัตราการบริโภคมากถึง 770,671 บาร์เรลต่อวันเลยทีเดียว

แต่ถึงแม้มาเลเซียจะมีกำลังการผลิตน้ำมันที่ล้นเหลือ แต่มาเลเซียก็ยังมีการนำเข้าน้ำมันมากถึง 197,489 บาร์เรลต่อวัน และส่งออกน้ำมัน 390,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งนี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ราคาน้ำมันในมาเลเซียเองก็ผันผวนตามราคาน้ำมันของโลกด้วยเหมือนกัน เพียงแต่ไม่ส่งผลกระทบมากเท่ากับประเทศไทยนั่นเอง

จากรายงานของ Worldometer ระบุว่า มาเลเซียมีน้ำมันสำรอง 0.2% เมื่อเทียบกับปริมาณน้ำมันสำรองของโลก (1,650,585,140,000 บาร์เรล อ้างอิงข้อมูล พ.ศ. 2559) ในขณะที่ประเทศไทย มีปริมาณน้ำมันสำรองเพียง 0.02345% เพียงเท่านั้น

การที่จะนำประเทศไทยไปเปรียบเทียบกับมาเลเซีย ในเรื่องราคาน้ำมัน และความพยายามที่จะผลักดันให้ประเทศไทย ดำเนินนโยบายราคาน้ำมันแบบมาเลเซียนั้น จึงไม่ต่างอะไรกับการขี่ช้างจับตั๊กแตนเลย

2 พฤศจิกายน พ.ศ.2539 ประเทศไทยมีประชากรครบ 60 ล้านคน หลังมีทารก 10 คน คลอดในเวลา 9.48 น.

วันนี้เมื่อ 26 ปีก่อน เป็นวันที่ประเทศไทยมีประชากรครบ 60 ล้านคนเป็นครั้งแรก ข้อมูลจากเว็บไซต์กรมอนามัยระบุว่า ประชากรคนที่ 60 ล้าน เป็นเด็กทารกเพศชาย คลอดในเวลา 09.48 น. ที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาล

วันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 ซึ่งเป็นวันที่ประเทศไทยมีประชากรครบ 60 ล้านคน ทางการได้มีกิจกรรมถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ช่อง 5 มีการรายงานผลการเกิดของทารกทั่วประเทศ มีหน่วยรถเคลื่อนที่ของช่อง 5 ไปถ่ายทอดสดเหตุการณ์จริงจากห้องคลอดของจังหวัดหลัก ๆ 

ทั้งนี้ มีเด็กที่เกิดในเวลา 09.48 น. ทั้งหมดจำนวน 10 คน โดยรัฐบาลในขณะนั้นได้มอบของขวัญวันเกิดสุดพิเศษให้ เช่น พระเลี่ยมทอง หรือเลสทองคำสลัก ‘อัลเลาะห์’ สำหรับเด็กที่มารดานับถือศาสนาอิสลาม, เช็กของขวัญ 10,000 บาท, บัตรประกันสุขภาพ 10 ปี, ทุนการศึกษาครบหลักสูตร เป็นต้น

นายกฯเดินหน้าโหมโรงใกล้เลือกตั้ง

‘บิ๊กตู่’ มอบรางวัลองค์กรเป็นเลิศบริหารจัดการด้านการเงินการคลัง กำชับทุกส่วนราชการใช้เงินภาษีทุกสตางค์คุ้มค่า-โปร่งใส-ตรวจสอบได้ ลั่นไม่อยากทิ้งภาระไว้ให้ใคร ‘ยัน’ไม่ต้องการทำเพื่อการเมือง แต่ทำเพื่อประเทศ-ปชช. ย้ำรับฟังจากทุกคนไม่ใช่ใช้อำนาจชี้นิ้วสั่ง

 

เมื่อเวลา 09:30 น. วันที่ 1 ธ.ค. ที่ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์​ จันทร์โอชา​ นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม​ เป็นประธานในพิธีและมอบรางวัลองค์กรที่มีความเป็นเลิศในการบริหารจัดการด้านการเงินการคลัง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 โดยมีหน่วยงานที่ได้รับรางวัลทั้งสิ้น 44 หน่วยงาน และ 7 จังหวัด รวมทั้งสิ้น 103 รางวัล

 

พล.อ.ประยุทธ์​ กล่าวตอนหนึ่งว่า ขอแสดงความยินดีกับทุกหน่วยงานที่ได้รับรางวัลอันทรงคุณค่าสร้างความภาคภูมิใจให้แก่หน่วยงาน ซึ่งกรมบัญชีกลางมีความสำคัญมากในการผลักดันหน่วยงานของรัฐปฏิบัติภารกิจไปแนวทางเดียวกัน เพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาลและยุทธศาสตร์ชาติ ตลอดจนการบริหารจัดการการเงินการคลังของภาครัฐในภาพรวมให้เป็นไปอย่างถูกต้อง โปร่งใส ยึดหลักธรรมาภิบาลและมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนตลอดมา โดยยึดมั่นในความซื่อสัตย์ สุจริต ความถูกต้องในกฎกติกาอย่างเคร่งครัด

 

พล.อ.ประยุทธ์​ กล่าวว่า ในฐานะประชาชนทั่วไปย่อมคาดหวังให้ส่วนราชการปฏิบัติด้วยเต็มกำลังความสามารถ ซื่อสัตย์ สุจริต ใช้งบประมาณจากเงินภาษีทุกบาททุกสตางค์อย่างมีประสิทธิภาพในการพัฒนาประเทศและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ตนในฐานะนายกฯ ผู้นำฝ่ายบริหาร นอกจากคาดหวังให้ทุกส่วนราชการและข้าราชการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ เพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศชาติเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน สมความคาดหวังของประชาชนคนไทยทั้งประเทศแล้ว ตนยังคาดหวังให้การบริหารการเงินการคลังของภาครัฐบูรณาการเป็นไปอย่างโปร่งใสตรวจสอบได้ ลดความผิดพลาด ลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น ให้สะดวกรวดเร็วและมีประสิทธิภาพเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกภาคส่วน ขอให้ทุกหน่วยงานมุ่งมั่นตั้งใจในการรักษาระดับมาตรฐานให้มีประสิทธิภาพสูงต่อไป เพื่อนำไปสู่การยกระดับการทำงานของภาครัฐในภาพรวมต่อไป

 

พล.อ.ประยุทธ์​ กล่าวว่า ก่อนจบตนขอพูดส่วนตัวถึงบรรยากาศวันนี้กับเมื่อวานคนละบรรยากาศ ซึ่งเมื่อวาน (30 พ.ย.) ตนลงไปเยี่ยมในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ได้พบกับประชาชนเกษตรกรชาวไร่ชาวนาและท้องถิ่น ถึงระดับกำนันผู้ใหญ่บ้านและน่วยงานต่างๆ ได้มีการพูดคุยกันเรื่องการปรับโครงสร้างการเกษตรของเราให้ดีขึ้นให้ประชาชนมีรายได้สูงขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงทั้งขั้นตอนตลอดจนห่วงโซ่

 

"เมื่อวานได้ไปเยี่ยมชมในพื้นที่จริงเห็นความก้าวหน้า เป็นสิ่งที่เราและผมต้องทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีตรงนี้ ในฐานะที่ผมบริหารในภาพรวมตรงนี้คือหน่วยงานข้าราชการทั้งหมดในสังกัดของรัฐบาล ทุกกระทรวง ทุกกรมและทุกหน่วยงานเทียบเท่ามากมายนี่เป็นแค่ส่วนหนึ่งที่เข้ามารับรางวัล ผมอยากมอบรางวัลให้ครบทุกหน่วยงานด้วยซ้ำไปกี่ร้อยหน่วยงานก็พร้อมยินดีจะมอบ ขอทุกคนเพียงช่วยกันทำ ถ้าเทียบสัดส่วนกันแล้วในส่วนที่รับรางวัลไม่ว่าจะดีเยี่ยม ดีเลิศ ยังเป็นสัดส่วนที่เป็นส่วนหนึ่งแต่ผมอยากมอบให้กับทุกหน่วย" พล.อ.ประยุทธ์​ กล่าว

 

พล.อ.ประยุทธ์​ กล่าวว่า วันนี้เราได้รับการชื่นชมหลายอย่างจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการบริหารการเงินการคลังของเราได้รับความชื่นชมและความเชื่อมั่นมากมาย ซึ่งยิ่งต้องทำตัวเราให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ให้ดีกว่านี้ ไม่มีอะไรดีที่สุดเพราะสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปทุกวัน สถานการณ์โลกก็เปลี่ยน กฎระเบียบของโลกใบนี้ซึ่งเป็นโลกใบเดิมแต่เป็นกฎระเบียบโลกใหม่ที่มีการจัดระเบียบมากมาย เราจำเป็นต้องนำทุกอย่างมาวิเคราะห์พิจารณาว่าจะพัฒนาหน่วยงานของเราอย่างไรให้ได้รับการยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพราะล้วนมีผลด้วยกันทั้งสิ้น

 

"ขอให้ทุกคนรักษาความดีนี้ไว้ ไม่มีใครรู้เท่ากับเรารู้ตัวเองว่าเราทำงานดีหรือไม่ดีอย่างไร สิ่งต่างๆจึงเป็นสิ่งที่เราต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับพี่น้องประชาชนทุกคนโดยรวมและต้องสร้างความรักของประเทศให้ทุกคนได้มั่นใจว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่เขาให้ความเชื่อมั่น"นายกรัฐมนตรีกล่าว

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการขนส่งทางบก ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) แถลงข่าวระบบบันทึกคะแนนความประพฤติในการขับรถ

วันที่ 1 ธันวาคม 2565 เวลา 10.00 น. ณ ห้องศรียานนท์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก นายพงษ์สิทธิ์ ชัยฉัตรพรสุข รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน สายงานกำกับกฎเกณฑ์และกฎหมาย ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และพันเอก สรรพชัยย์ หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วย พล.ต.ท.ธนา ชูวงศ์ ผู้ช่วย ผบ.ตร.พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.วีระ จิรวีระ รอง จตช. และผู้บริหารของทั้ง 4 หน่วยงาน ได้ร่วมกันแถลงข่าวประชาสัมพันธ์ระบบบันทึกคะแนนความประพฤติในการขับรถ หรือระบบตัดแต้ม และความร่วมมือระหว่างหน่วยงานเพื่อสร้างระบบดังกล่าว ให้ดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมาตรฐานสากล ระบบบันทึกคะแนนความประพฤติ กำหนดไว้ใน “ระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับระบบการบันทึกคะแนนความประพฤติในการขับรถของผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่ พ.ศ.2565” ซึ่งออกตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 142/1 โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 มกราคม 2566 ซึ่งจะเป็นมาตรการเสริมในการสร้างวินัยการขับขี่เพิ่มเติมจากการออกใบสั่งเพื่อบังคับใช้กฎหมายตามปกติ ภายใต้สโลแกน “มุ่งเน้นการสร้างวินัยการขับขี่ปลอดภัย ให้โอกาสแก้ไขไม่กระทำผิดซ้ำ สร้างความเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมาย และเป็นมาตรฐานสากล”

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์  กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. กล่าวว่า สาระสำคัญของระบบนี้ คือ กำหนดให้ผู้ที่มีใบอนุญาตขับขี่แต่ละราย จะมีคะแนนความประพฤติคนละ 12 คะแนน  (ไม่ว่าผู้นั้นจะได้รับใบอนุญาตขับขี่กี่ชนิดก็ตาม) หากทำผิดตามกฎจราจรในข้อหาที่ระบุไว้ จะถูกตัดคะแนนตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด ดังนี้ 
การตัดคะแนน 
1) กลุ่มความผิดหลักที่เป็นปัจจัยในการเกิดอุบัติเหตุ (20 ฐานความผิด) จะถูกตัดคะแนนเมื่อทำผิดทันที โดยความผิดในกลุ่มนี้แบ่งเป็น 4 ระดับ ได้แก่
 - ตัด 1 คะแนน  เช่น ขับรถเร็วเกินกำหนด ไม่สวมหมวกนิรภัย ไม่รัดเข็มขัดนิรภัย ไม่หยุดให้คนข้ามทางม้าลาย ใช้โทรศัพท์ขณะขับรถ
 - ตัด 2 คะแนน  เช่น  ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร (ฝ่าไฟแดง)  
 - ตัด 3 คะแนน  เช่น ขับรถชนแล้วหนี 
 - ตัด 4 คะแนน  เช่น เมาแล้วขับ ขับรถในขณะเสพยาเสพติด 
2) กลุ่มความผิดอื่นๆ ตามกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก และกฎหมายที่เกี่ยวกับรถหรือการใช้ทาง จำนวน 42 ฐานความผิด ตามบัญชีท้ายระเบียบ ความผิดกลุ่มนี้จะถูกตัดคะแนนเฉพาะกรณีไม่ชำระค่าปรับตามใบสั่งในเวลาที่กำหนดเท่านั้น เช่น ฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจรในทาง จอดในที่ห้ามจอด ไม่แสดงใบอนุญาตขับขี่ขณะขับรถ เป็นต้น 

วิธีการตัดคะแนนนั้น จะดำเนินการโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยใช้ระบบฐานข้อมูลใบสั่ง PTM ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการบันทึกการทำผิดกฎจราจรและตัดคะแนนในแต่ละครั้ง  

การสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่
- หากผู้ขับขี่ถูกตัดคะแนนจนเหลือ 0 คะแนน  จะถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ หรือห้ามขับรถ (ทุกประเภท) เป็นเวลา 90 วัน โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเป็นผู้มีหนังสือแจ้งคำสั่งดังกล่าว และหากฝ่าฝืนไปขับรถในขณะถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 156  
- หากถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่เป็นครั้งที่ 3 ภายใน 3 ปี อาจจะถูกสั่งพักใช้มากกว่า 90 วัน  และหากยังถูก
สั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่อีกเป็นครั้งที่ 4 อาจถูกพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่

ราคายางยังคงผันผวน! พิษจากโควิด/สงครามรัสเซีย-ยูเครน

“อลงกรณ์” ชี้แม้ไทยส่งออกยางธรรมชาติทะลุ 2 แสนล้านเพิ่มขึ้นกว่า 20% แต่ราคายังผันผวนจากผลกระทบของโควิดและสงครามรัสเซีย-ยูเครน มอบ ”กยท.”เร่งเดินหน้าขยายมาตรการชะลอขายยางเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามและเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางและรักษาเสถียรภาพราคายาง เปิดเผยวันนี้ (1 ธ.ค.65) ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 5/2565ว่าที่ประชุมได้รับทราบรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจตลาดยางพาราในประเทศคู่ค้าที่สำคัญจากทูตเกษตร ประจำสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศในแต่ละภูมิภาคทั่วโลก โดยทูตเกษตรจากสหภาพยุโรป (สำนักงานบรัสเซลส์) อิตาลี (สำนักงานกรุงโรม) สหรัฐอเมริกาและอเมริกาใต้ (สำนักงานกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.และลอสแองเจลิส) ออสเตรเลีย รัสเซีย จีน ญี่ปุ่น อาเซียน (สำนักงานกรุงจาการ์ต้า) ซึ่งจากรายงานสถานการณ์การผลิต การค้า และการแข่งขันของตลาดยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางทั่วโลก ทั้งจากรายงานสถานการณ์ปัญหาสงครามรัสเซียยูเครน ยังคงส่งผลกระทบต่อการส่งออกยางและผลิตภัณฑ์ยางไทย

 

โดยสถานการณ์การส่งออกยางและผลิตภัณฑ์ยางไทยไปยังรัสเซียยังคงหดตัว อีกทั้งผู้ประกอบการอุตสาหกรรมหนักอยู่ในระยะ wait and see mode และสต๊อคยางในรัสเซียยังล้นตลาดถึง 43 % ในสหรัฐอเมริกา เกิดภาวะเงินเฟ้อสูง และสถานการณ์โควิดในประเทศจีนรุนแรง หลายพื้นที่ล็อคดาวน์ยังพบผู้ติดเชื้อสูงโดยในเดือนพฤศจิกายน จีนพบผู้ติดเชื้อกว่า 49,479 ราย ไม่แสดงอาการ 448,350 ราย ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการค้าในจีน ซึ่งจากสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลกได้ส่งผลกระทบต่อราคาและการส่งออกยางพาราของไทย

ที่ประชุมยังรับทราบรายงานสถานการณ์ยางพารา เดือนพฤศจิกายน 2565 และคาดการณ์เดือนธันวาคม 2565 โดยฝ่ายเศรษฐกิจยาง การยางแห่งประเทศไทย ได้รายงานคาดการณ์ปริมาณผลผลิตยางพารา ปี 2565 มีปริมาณ 4.754 ล้านตัน ในช่วงไตรมาส 4/65 มีปริมาณผลผลิตยางพาราสูงกว่าทุกไตรมาส มีปริมาณ 1.432 ล้านตัน การส่งออกในไตรมาสที่ 3/65 ไทยส่งออกรวม 1.150 ล้านตัน ยังอยู่ในระดับเดียวกับปีก่อน สำหรับช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค.2565 คาดการณ์ว่าปริมาณการส่งออกอาจจะชะลอตัวเล็กน้อย เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า แต่ปริมาณสูงกว่าช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา โดยมูลค่าการส่งออกยางธรรมชาติของไทย ปี 2565 (ม.ค.-ก.ย. 2565) มีมูลค่า 216,528 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.99 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งออกไปยังประเทศจีน มากที่สุด มีมูลค่า 107,352 ล้านบาท รองลงมาได้แก่ มาเลเชีย มูลค่า 19,153 ล้านบาท สหรัฐอเมริกามูลค่า 15,414 ล้านบาท ญี่ปุ่น มูลค่า 11,905 ล้านบาท เกาหลีใต้ มูลค่า 9,891 ล้านบาท และประเทศอื่น ๆ มูลค่า 52,813 ล้านบาท

‘ศักดิ์สยาม’ ตั้งเป้า 3 ปี ไทยเป็นฮับในอาเซียน ถ่ายทอดนวัตกรรมและเทคโนโลยีระบบราง

เมื่อไม่นานมานี้ (15 ธ.ค. 65) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือ ‘ผนึกกำลังพันธมิตรพัฒนาเทคโนโลยีระบบรางของภูมิภาค’ ระหว่างสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) และกลุ่มธุรกิจระบบรางฝรั่งเศส โดยการสนับสนุนของสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ ไม่มีกำหนดกรอบระยะเวลา เป็นการต่อยอดความร่วมมือการผนึกกำลังพัฒนาศักยภาพบุคลากร เทคโนโลยี และนวัตกรรม ระหว่างสถาบันวิจัยฯ และกลุ่มอุตสาหกรรมระบบรางจากประเทศฝรั่งเศส 5 บริษัท โดยเป็นบริษัทที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีระบบราง ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับโลก

นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า ความร่วมมือนี้จะทำให้เกิดการทำงานร่วมกันที่เป็นรูปธรรมเรื่องต่าง ๆ ได้แก่

1.การสร้างสถาบันพัฒนาบุคลากรระบบราง ที่เป็นกลไกการพัฒนาบุคลากรระบบราง ทั้งระดับช่างเทคนิคทักษะสูง และระดับวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ โดยร่วมกับสถาบันและหน่วยงานเครือข่าย เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้อง

2.การสร้างความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนฝรั่งเศส และภาคเอกชนไทย เพื่อสร้างอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนระบบรางภายในประเทศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย Thai First ของกระทรวงคมนาคม โดยไม่เพียงแค่ผลิตได้ แต่คาดหวังให้เกิดผู้ประกอบการไทยที่มีความเข้มแข็ง สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้

และ 3.การวิจัยและพัฒนาร่วมกัน และถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมระบบรางชั้นแนวหน้าระหว่างกลุ่มธุรกิจระบบรางชั้นนำของฝรั่งเศส และเครือข่ายการวิจัยและพัฒนาของประเทศไทย เพื่อส่งเสริม และผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) การถ่ายทอด และการสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมของภูมิภาคอาเซียนภายใน 2-3 ปีหลังจากนี้

‘อนุทิน’ ร่วมต้อนรับ นทท.จีน เที่ยวบินแรก ย้ำ!! ไม่ต้องแสดงใบรับวัคซีนโควิด-19

(9 ม.ค. 66) เมื่อเวลา 13.00 น. ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังการต้อนรับผู้เดินทางเที่ยวบินแรกหลังจากจีนเปิดประเทศ ว่า เที่ยวบินแรกมาจากเซี๊ยะเหมิน จำนวน 269 คน ในวันนี้จะมีเที่ยวบินจากจีนเข้ามา 15 เที่ยวบิน จำนวน 3,465 คน คาดการณ์ว่าในปี 2566 จะมีผู้เดินทางจากจีนเข้าไทยราว 7-10 ล้านคน จากเดิมที่ก่อนมีโควิด-19 มีราว 20 ล้านคน และผู้เดินทางจากทั่วโลกเข้าไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เป็นสัญญาณดีต่อภาคการท่องเที่ยว คนมีงานทำ และมีโอกาส

“ทั้งหมดเข้ามาภายใต้มาตรการป้องกันโควิด-19 ของประเทศไทย ซึ่งมีความเหมาะสมกับสถานการณ์ เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ ซึ่งเป็นมาตรการที่เหมือนกันสำหรับผู้เดินทางเข้าไทยจากทุกประเทศ และมั่นใจประเทศไทยมีความพร้อมรับผู้เดินทางจากทุกประเทศ ไม่มีการแบ่งแยกจนกว่าจะมีความจำเป็น” นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน กล่าวว่า สำหรับมาตรการผู้เดินทางเข้าไทยนั้น ยกเลิกการแสดงเอกสารฉีดวัคซีนโควิด-19 เริ่มตั้งแต่ 9 ม.ค.2566 เป็นต้นไป เนื่องจากคณะกรรมการวิชาการตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ พ.ศ.2558 มีการประชุมเมื่อช่วงเช้า มีความเห็นว่า การฉีดวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทยครอบคลุมจำนวนมาก รวมถึง ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกส่วนใหญ่ก็มีการฉีดวัคซีนจำนวนมากแล้ว ขณะที่การกำหนดให้แสดงเอกสารฉีดวัคซีนจะทำให้เกิดความไม่คล่องตัว จึงไม่มีความจำเป็นต้องแสดง ฉะนั้น มาตรการเข้าไทยตอนนี้ คงเหลือต้องมีประกันสุขภาพครอบคลุมการรักษาโรคโควิด-19 สำหรับผู้เดินทางจากประเทศที่กำหนดว่าเมื่อจะกลับเข้าประเทศนั้น ๆ จะต้องแสดงผลการตรวจโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR เพื่อที่หากตรวจพบเชื้อแล้วต้องรักษาในประเทศไทย จะได้มีการรองรับค่าใช้จ่าย 

‘อนุทิน’ ไม่ประมาท เฝ้าระวังตามแนวทางวิชาการ แม้โควิดในประเทศลด สวนทาง นทท.เข้าไทยเพิ่ม

สธ.เกาะติดสถานการณ์โควิด-19 เผยเข้าสู่สัปดาห์ที่ 3 ของปี 66 ผู้ติดเชื้อใหม่ยังลดลง สวนทางจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติไหลเข้าไทยเพิ่มต่อเนื่อง นายกรัฐมนตรีเชิญชวนประชาชนเข้ารับวัคซีน ด้านรองนายกฯ อนุทิน ย้ำแผนเฝ้าระวังตามข้อแนะนำด้านวิชาการ

(27 ม.ค.66) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันกำหนดแนวทางรองรับการเดินทางเข้าประเทศไทยของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภายหลังทางการประเทศจีนประกาศอนุญาตให้ชาวจีนเดินทางออกไปท่องเที่ยวต่างประเทศตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. 66 เป็นต้นมา กระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ได้มีการติดตามโควิด19 อย่างใกล้ชิด เพื่อมีข้อมูลนำไปสู่การบริหารจัดการที่เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์

กรมควบคุมโรคได้รายงานข้อมูลล่าสุด ระบุให้เห็นว่าจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด19 รายใหม่ ในประเทศยังคงปรับตัวลดลง สวนทางกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุถึงข้อมูลนักท่องเที่ยวล่าสุดว่าตั้งแต่วันที่ 1-21 ม.ค. 66 มีต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยแล้ว 1,342,365 คน โดย 5 อันดับแรก ได้แก่ นักท่องเที่ยวจากรัสเซีย (143,580คน) มาเลเซีย (138,737คน) เกาหลีใต้ (111,522คน) อินเดีย (68,609คน) และ ลาว (56,517คน) ตามลำดับ

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ระหว่างวันที่ 15-21 ม.ค. 66 ซึ่งเป็นสัปดาห์ที่3 ของปี 66 ในการายงานสถานการณ์โควิด19 พบว่า มีรายงานผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 627 ราย เฉลี่ยวันละ 90 ราย ลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า (8-14ม.ค.) ที่มีผู้ป่วยใหม่ 969 คน เฉลี่ยวันละ 138 คน ขณะที่ผู้เสียชีวิตตลอดสัปดาห์อยู่ที่ 44 ราย ลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้าที่เสียชีวิต 65 ราย


TRENDING
© Copyright 2022, All rights reserved. South Time Thailand
Take Me Top