Tuesday, 7 May 2024
เซาท์ไทม์

กลุ่ม ปตท. ผนึกกำลัง เดินหน้ารุกธุรกิจน้ำมันเครื่องบินเพื่อสิ่งแวดล้อม สร้างสังคมศก.คาร์บอนต่ำ รับเป้าหมาย Net Zero

กลุ่ม ปตท. ผนึกกำลัง รุกธุรกิจน้ำมันเครื่องบินเพื่อสิ่งแวดล้อม สร้างสังคมเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ขับเคลื่อนเป้าหมาย Net Zero ดันไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

(9 พ.ย. 65) นายนพดล ปิ่นสุภา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการศึกษา พัฒนาและลงทุนผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel : SAF) ระหว่างบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดย นายจตุรงค์ วรวิทย์สุรวัฒนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่แผนกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (Thai Oil) โดย นายรัฐกร กัมปนาทแสนยากร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านกลยุทธ์องค์กร  บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GC) โดย นางวราวรรณ ทิพพาวนิช รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานกลยุทธ์องค์กร บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC) โดย นายสมเกียรติ เลิศฤทธิ์ภูวดล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลยุทธ์ แผนและพัฒนาธุรกิจองค์กร และ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) โดย นายทรงพล เทพนำโสมนัสส์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านธุรกิจเอนเนอร์ยี่โซลูชัน ร่วมลงนาม 

11 พฤศจิกายน พ.ศ.2411 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรก

วันนี้เมื่อ 154 ปี ก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรก ขณะพระชนมายุเพียง 15 พรรษา

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ประสูติ เมื่อวันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2396 ทรงพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฎว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามกุฎ บุรุษรัตนราชรวิวงศ์ วรุตมพงศ์บริพัตร ศิริวัฒนราชกุมาร 

ทรงได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าฟ้าต่างกรม มีพระนามกรมว่า กรมหมื่นพิฆเณศวรสุรสังกาศ หลังจากทรงผนวชเป็นสามเณรทรงได้รับการเฉลิมพระนามาภิไธยขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ฯ กรมขุนพินิตประชานาถ ทรงเป็นพระราชปิโยรสที่สมเด็จพระบรมชนกนาถโปรดให้เสด็จอยู่ใกล้ชิดติดพระองค์เสมอเพื่อให้มีโอกาสแนะนำสั่งสอนวิชาการต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชารัฏฐาภิบาล ราชประเพณีและโบราณคดี นอกจากนั้นยังทรงศึกษาภาษามคธ ภาษาอังกฤษ การยิงปืนไฟ กระบี่กระบอง มวยปล้ำ รวมทั้งการบังคับช้างอีกด้วย

12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 เครื่องบินซาอุฯ – คาซัคฯ ชนสนั่นกลางอากาศ เสียชีวิตหมดยกสองลำ รวม 349 ชีวิต

วันนี้ของเมื่อ 26 ปีก่อน หรือเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 ได้เกิดอุบัติเหตุเครื่องบินชนกันกลางอากาศที่ประเทศอินเดีย ส่งผลให้ผู้โดยสารของทั้งสองลำ เสียชีวิตทั้งหมด รวม 349 คน

เหตุการณ์สุดสลดดังกล่าว เกิดขึ้นจากเครื่องบินลำหนึ่ง เป็นเครื่องบินโดยสารที่เดินทางจาก ‘คาซัคสถาน’ และกำลังจะลงจอดที่ท่าอากาศยานนานาชาติ ‘อินทิรา คานธี’ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย

เกิดชนกันกับเครื่องบินโดยสารอีกลำหนึ่งคือสายการบินของซาอุดีอาระเบีย ที่ขึ้นบินจากท่าอากาศยานเดียวกัน โดยมีปลายทางคือ ‘ซาอุดีอาระเบีย’

โดยตำแหน่งที่เกิดอุบัติเหตุอยู่ใกล้กับเมืองจรรขีทาทรี รัฐหรยาณา ประเทศอินเดีย เหตุการณ์นี้จึงเป็นที่รู้จักกันในภาษาอังกฤษว่า ‘เหตุเครื่องบินชนกันกลางอากาศที่จรรขีทาทรี’

ผลคือ ผู้โดยสารและลูกเรือบนเครื่องบินทั้งสองลำรวมทั้งสิ้น 349 คนเสียชีวิตทั้งหมด!!

นั่นจึงทำให้เหตุการณ์นี้ ถือเป็นอุบัติเหตุเครื่องบินชนกันกลางอากาศที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในโลก เป็นอุบัติเหตุทางการบินที่ร้ายแรงที่สุดในประเทศอินเดีย และเป็นอุบัติเหตุทางการบินที่ร้ายแรงที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ในโลก รองจากเหตุการณ์เครื่องบินชนกันที่ท่าอากาศยานเตเนริเฟในหมู่เกาะคะแนรี ประเทศสเปนในปี พ.ศ. 2520 และอุบัติเหตุเจแปนแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 123 ตกที่ประเทศญี่ปุ่นในปี พ.ศ. 2528

สำหรับเหตุการณ์นี้ เครื่องลำหนึ่งเป็นเครื่องบินโบอิง 747 ของสายการบินซาอุดีอาระเบียนแอร์ไลน์ หรือเที่ยวบินที่ 763 ส่วนอีกลำหนึ่ง คือ เครื่องบินอิลยูชิน อิล-76 ของสายการบินคาซัคสถานแอร์ไลน์ หรือ เที่ยวบินที่ 1907

รายละเอียดของเครื่องบินทั้งสองเที่ยวบินนี้ คือ เที่ยวบินที่ 763 เป็นเที่ยวบินเดินทางจากท่าอากาศยานนานาชาติอินทิรา คานธี กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย โดยมีกำหนดลงจอดที่ท่าอากาศยานนานาชาติอัซเซาะฮ์รอน เมืองอัซเซาะฮ์รอน ทางตะวันออกของประเทศซาอุดีอาระเบีย ก่อนจะเดินทางต่อไปยังท่าอากาศยานนานาชาติสมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลอะซีซ เมืองญิดดะฮ์ ทางตะวันตกของซาอุดีอาระเบีย

โดยใช้เครื่องบินโบอิง 747-168 บี หมายเลขทะเบียน HZ-AIH ขณะที่เกิดเหตุเครื่องบินลำนี้มีอายุ 14 ปี 10 เดือน มีผู้โดยสารบนเครื่องบินลำนี้ 289 คน และลูกเรือ 23 คน

ผู้โดยสารส่วนใหญ่เป็นชาวอินเดีย ซึ่งเดินทางไปทำงานหรือไปแสวงบุญที่ซาอุดีอาระเบีย และมีชาวต่างชาตินอกเหนือจากอินเดียและซาอุดีอาระเบียอยู่ด้วย 17 คน

ส่วนเที่ยวบินที่ 1907 เป็นเที่ยวบินเดินทางจากท่าอากาศยานนานาชาติชิมเคนต์ เมืองชิมเคนต์ ทางตอนใต้ของประเทศคาซัคสถาน มายังท่าอากาศยานนานาชาติอินทิรา คานธี กรุงนิวเดลี

โดยใช้เครื่องบินอิลยูชิน อิล-76ทีดี หมายเลขทะเบียน UN-76435 โดยขณะเกิดเหตุเครื่องบินลำนี้มีอายุ 4 ปี ในรายงานข่าวแต่แรกนั้นระบุว่ามีคนบนเครื่องบินทั้งหมด 39 คน

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ของสายการบินคาซัคสถานแอร์ไลน์ได้แจ้งว่ามีคนบนเครื่องบินเพียง 37 คน โดยเป็นลูกเรือ 10 คน และผู้โดยสาร 27 คน

ซึ่งเที่ยวบินนี้เป็นเที่ยวบินเหมาลำ โดยมีบริษัทเสื้อผ้าแห่งหนึ่งในประเทศคีร์กีซสถานเป็นผู้เช่า ผู้โดยสาร 13 คนบนเครื่องบินลำนี้ถือสัญชาติคีร์กีซ

ระหว่างที่ คาซัคสถานแอร์ไลน์เที่ยวบินที่ 1907 ใกล้ถึงท่าอากาศยานนานาชาติอินทิรา คานธี ได้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศของเดลีตามปกติ ซึ่งเจ้าหน้าที่สั่งให้เที่ยวบินที่ 1907 ลดระดับลงมาที่ 15,000 ฟุต

หากแต่ในขณะนั้น ซาอุดีอาระเบียนแอร์ไลน์เที่ยวบินที่ 763 ก็ได้ทำการขึ้นบินจากท่าอากาศยาน และมุ่งหน้าไปในเส้นทางบินเดียวกัน ซึ่งสวนทางกับเที่ยวบินที่ 1907

เสี้ยวนาทีนั้น เจ้าหน้าที่จึงสั่งให้เที่ยวบินที่ 763 ไต่ระดับขึ้นไปที่เพดานบิน 14,000 ฟุต เที่ยวบินที่ 1907 เมื่อลดระดับถึง 15,000 ฟุตแล้วก็รายงานต่อเจ้าหน้าที่ควบคุมจราจร

เจ้าหน้าที่ได้แจ้งเตือนเที่ยวบินที่ 1907 ว่าเที่ยวบินที่ 763 กำลังมุ่งหน้าสวนทางกัน อย่างไรก็ตาม ที่จริงแล้วเที่ยวบินที่ 1907 ไม่ได้รักษาระดับความสูงอยู่ที่ 15,000 ฟุต หากแต่กำลังลดระดับลงมาโดยในขณะนั้นอยู่ที่ระดับความสูง 14,500 ฟุตและกำลังลดระดับต่อไปอีก

13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 เกิดเหตุก่อการร้าย ณ กรุงปารีส คร่า 153 ชีวิต ร้ายแรงสุดนับแต่สงครามโลกครั้งที่ 2

ค่ำคืนของวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ.2558 เกิดเหตุก่อการร้ายในกรุงปารีสและเมืองแซ็ง-เดอนี (ย่านชานกรุงปารีสทางทิศเหนือ) ประเทศฝรั่งเศส โดยฝีมือของกลุ่มก่อการร้าย ISIL

ในช่วงกลางคืนของวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 เกิดเหตุก่อการร้ายซึ่งประกอบด้วยการกราดยิง การระเบิดฆ่าตัวตาย และการจับตัวประกันในกรุงปารีสและเมืองแซ็ง-เดอนี (ย่านชานกรุงปารีสทางทิศเหนือ) ประเทศฝรั่งเศส เริ่มตั้งแต่เวลา 21:16 น. ตามเวลายุโรปกลาง เกิดเหตุกราดยิงผู้คน 6 จุด และระเบิดฆ่าตัวตายอีก 4 จุด รวมถึงที่บริเวณใกล้กับสตาดเดอฟร็องส์ (สนามกีฬาแห่งชาติ) ซึ่งกำลังมีการแข่งขันฟุตบอลนัดกระชับมิตรระหว่างทีมชาติฝรั่งเศสกับทีมชาติเยอรมนี การโจมตีที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดอยู่ที่โรงมหรสพบาตากล็อง (Bataclan) ที่ซึ่งผู้ก่อเหตุได้จับผู้ชมคอนเสิร์ตเป็นตัวประกันและเผชิญหน้ากับตำรวจจนสิ้นสุดลงเมื่อเวลา 00:58 น. ของวันที่ 14 พฤศจิกายน

จากเหตุการณ์นี้ มีพลเรือนเสียชีวิตอย่างน้อย 153 คน โดย 89 คนในจำนวนนี้อยู่ที่โรงมหรสพบาตากล็อง และมีผู้ได้รับบาดเจ็บระหว่างเหตุโจมตีอีก 352 คน โดยมี 99 คนที่ได้รับการระบุว่ามีอาการสาหัส นอกจากพลเรือนที่ประสบความสูญเสียแล้วยังมีผู้ก่อเหตุเสียชีวิต 7 คน และทางการกำลังค้นหาผู้ร่วมก่อเหตุที่ยังหลบหนี 

14 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็นวัน ‘พระบิดาแห่งฝนหลวง’ น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ในหลวง ร.9

67 ปีแห่งการกำเนิดฝนหลวงพระราชทาน นับจากวันที่ 14 พฤศจิกายน 2498 เป็นวันที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรางมีทรงมีพระราชดำริที่จะคิดค้น วิจัย หาวิธีการทำฝนหลวงเพื่อแก้ไขปัญหาความทุกข์ยากของเกษตรกรและประชาชนทั่วไปที่ประสบภัยแล้ง

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริที่จะคิดค้น วิจัย หาวิธีการทำฝนหลวงเพื่อแก้ไขปัญหาความทุกข์ยากของเกษตรกรและประชาชนทั่วไปที่ประสบภัยแล้ง ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2545 เฉลิมพระเกียรติพระองค์ท่าน ในฐานะทรงเป็น 'พระบิดาแห่งฝนหลวง' และกำหนดให้วันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปีเป็น 'วันพระบิดาแห่งฝนหลวง' เพื่อร่วมน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นหาที่สุดมิได้ และจารึกไว้เป็นวันสำคัญของประวัติศาสตร์ชาติไทย       

เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริโครงการฝนหลวงขึ้นเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 ทรงศึกษาค้นคว้าและวิจัยทางเอกสาร ทั้งด้านวิชาการ อุตุนิยมวิทยา และการดัดแปรสภาพอากาศ โครงการพระราชดำริฝนหลวง เป็นโครงการที่ก่อกำเนิดจากพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงห่วงใยในความทุกข์ยากของพสกนิกรในท้องถิ่นทุรกันดาร จากพระราชกรณียกิจในการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกรในทุกภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง นับแต่เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ทำให้ทรงพบเห็นว่า ภาวะแห้งแล้งได้มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นตามลำดับ เพราะการตัดไม้ทำลายป่า เป็นสาเหตุให้สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้แก่ราษฎรในทุกภาคของประเทศ ส่งผลถึงความเสียหายต่อเศรษฐกิจโดยรวมของชาติ คิดเป็นมูลค่ามหาศาลในแต่ละปี  

ทั้งนี้ ระหว่างทางที่เคยเสด็จพระราชดำเนิน ทั้งภาคพื้นดิน และทางอากาศยาน พระองค์ทรงสังเกตเห็นว่า มีเมฆปริมาณมากปกคลุมท้องฟ้า แต่ไม่สามารถก่อรวมตัวกันจนเกิดเป็นฝนได้ เป็นเหตุให้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงระยะยาวทั้ง ๆ ที่เป็นช่วงฤดูฝน ทรงคิดคำนึงว่า น่าจะมีมาตรการทางวิทยาศาสตร์ที่จะช่วยให้เมฆเหล่านั้นก่อรวมตัวกันจนเกิดเป็นฝนได้ ทรงเชื่อมั่นว่า ด้วยลักษณะของกาลอากาศ ภูมิอากาศ และภูมิประเทศของประเทศไทยซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคเขตร้อน และอยู่ในอิทธิพลของฤดูมรสุมของทวีปเอเชีย โดยเฉพาะฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งเป็นฤดูฝน และเป็นฤดูเพาะปลูกประจำปีของประเทศไทย จะสามารถดัดแปรสภาพอากาศให้เกิดเป็นฝนตกได้ 

วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2451 ก่อตั้ง โรงเรียนเกษตราธิการ ต้นกำเนิดมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2451 โรงเรียนเกษตราธิการ ได้ถือกำเนิดขึ้น ณ วังประทุมวัน โดยที่กระทรวงเกษตราธิการได้ทำการรวบรวมโรงเรียนที่อยู่ในสังกัดของกระทรวง 3 โรงเรียน คือ โรงเรียนแผนที่ (จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2425) โรงเรียนกรมคลอง (จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2448) และโรงเรียนวิชาการเพาะปลูก เป็นโรงเรียนเดียวกันเพื่อผลิตคนเข้ารับราชการในกรมกองต่างๆ ของกระทรวงเกษตราธิการ ถือได้ว่าเป็นหลักสูตรระดับอุดมศึกษาวิชาเกษตรศาสตร์ หลักสูตรแรกของประเทศไทย โดยได้เริ่มดำเนินการสอนหลักสูตรใหม่นี้ในปี พ.ศ. 2452

ต่อมาโรงเรียนกระทรวงเกษตราธิการจากเดิมที่สังกัดกระทรวงเกษตราธิการจึงย้ายมาสังกัดกระทรวงธรรมการ ในปี พ.ศ. 2456 โดยใช้ วังวินด์เซอร์ เป็นสถานที่ทำการเรียนการสอนของโรงเรียนกระทรวงเกษตราธิการที่ยุบเข้ารวมกับโรงเรียนข้าราชการพลเรือน (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปัจจุบัน)

บิ๊กป้อมกำชับเข้ม! เฝ้าระวังฤดูฝนภาคใต้

พล.อ.ประวิตร เร่งฟื้นฟู เยียวยา พื้นที่ภาคอีสาน/ภาคกลาง หลังน้ำลดพร้อมถอดบทเรียน  สั่งระบายน้ำออกจากทุ่งเพิ่มแก้มลิง แก้ปัญหาเร่งด่วนลุ่มเจ้าพระยา ย้ำเฝ้าระวัง พื้นที่เสี่ยงฤดูฝนภาคใต้ทุกแห่ง

 

เมื่อ 1 ธ.ค.65 เวลา 09:30 น. พล.ท.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผช.โฆษก รอง นรม. เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอง นรม. ได้เป็นประธานการประชุม คณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 4/2565 ณ ห้องประชุมมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ผ่านระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์

ที่ประชุมได้รับทราบ ผลการดำเนินงานตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2565 ซึ่งภาพรวมมีความคืบหน้าตามแผนงานด้วยดี สามารถแก้ปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนได้เป็นพื้นที่กว้าง ขณะนี้บริเวณทุกภาคของประเทศไทยได้สิ้นสุดฤดูฝน ยกเว้นภาคใต้ฝั่งตะวันออก ครอบคลุมพื้นที่ 7 จังหวัด (สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช, พัทลุง, สงขลา, ปัตตานี, ยะลา, นราธิวาส)  และรับทราบความก้าวหน้า 10 มาตรการ รองรับฤดูแล้ง ปี 2565 /2566 ซึ่งยังคงดำเนินการ อย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน ตามแผนงานของ สทนช. รวมถึงรับทราบ สถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้และแนวทางการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนบางลาง ปี 2565 เพื่อลดผลกระทบที่มักจะเกิดน้ำล้นตลิ่งเข้าสู่บ้านเรือนประชาชน และพืชสวนการเกษตร

นายกฯเดินหน้าโหมโรงใกล้เลือกตั้ง

‘บิ๊กตู่’ มอบรางวัลองค์กรเป็นเลิศบริหารจัดการด้านการเงินการคลัง กำชับทุกส่วนราชการใช้เงินภาษีทุกสตางค์คุ้มค่า-โปร่งใส-ตรวจสอบได้ ลั่นไม่อยากทิ้งภาระไว้ให้ใคร ‘ยัน’ไม่ต้องการทำเพื่อการเมือง แต่ทำเพื่อประเทศ-ปชช. ย้ำรับฟังจากทุกคนไม่ใช่ใช้อำนาจชี้นิ้วสั่ง

 

เมื่อเวลา 09:30 น. วันที่ 1 ธ.ค. ที่ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์​ จันทร์โอชา​ นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม​ เป็นประธานในพิธีและมอบรางวัลองค์กรที่มีความเป็นเลิศในการบริหารจัดการด้านการเงินการคลัง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 โดยมีหน่วยงานที่ได้รับรางวัลทั้งสิ้น 44 หน่วยงาน และ 7 จังหวัด รวมทั้งสิ้น 103 รางวัล

 

พล.อ.ประยุทธ์​ กล่าวตอนหนึ่งว่า ขอแสดงความยินดีกับทุกหน่วยงานที่ได้รับรางวัลอันทรงคุณค่าสร้างความภาคภูมิใจให้แก่หน่วยงาน ซึ่งกรมบัญชีกลางมีความสำคัญมากในการผลักดันหน่วยงานของรัฐปฏิบัติภารกิจไปแนวทางเดียวกัน เพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาลและยุทธศาสตร์ชาติ ตลอดจนการบริหารจัดการการเงินการคลังของภาครัฐในภาพรวมให้เป็นไปอย่างถูกต้อง โปร่งใส ยึดหลักธรรมาภิบาลและมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนตลอดมา โดยยึดมั่นในความซื่อสัตย์ สุจริต ความถูกต้องในกฎกติกาอย่างเคร่งครัด

 

พล.อ.ประยุทธ์​ กล่าวว่า ในฐานะประชาชนทั่วไปย่อมคาดหวังให้ส่วนราชการปฏิบัติด้วยเต็มกำลังความสามารถ ซื่อสัตย์ สุจริต ใช้งบประมาณจากเงินภาษีทุกบาททุกสตางค์อย่างมีประสิทธิภาพในการพัฒนาประเทศและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ตนในฐานะนายกฯ ผู้นำฝ่ายบริหาร นอกจากคาดหวังให้ทุกส่วนราชการและข้าราชการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ เพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศชาติเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน สมความคาดหวังของประชาชนคนไทยทั้งประเทศแล้ว ตนยังคาดหวังให้การบริหารการเงินการคลังของภาครัฐบูรณาการเป็นไปอย่างโปร่งใสตรวจสอบได้ ลดความผิดพลาด ลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น ให้สะดวกรวดเร็วและมีประสิทธิภาพเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกภาคส่วน ขอให้ทุกหน่วยงานมุ่งมั่นตั้งใจในการรักษาระดับมาตรฐานให้มีประสิทธิภาพสูงต่อไป เพื่อนำไปสู่การยกระดับการทำงานของภาครัฐในภาพรวมต่อไป

 

พล.อ.ประยุทธ์​ กล่าวว่า ก่อนจบตนขอพูดส่วนตัวถึงบรรยากาศวันนี้กับเมื่อวานคนละบรรยากาศ ซึ่งเมื่อวาน (30 พ.ย.) ตนลงไปเยี่ยมในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ได้พบกับประชาชนเกษตรกรชาวไร่ชาวนาและท้องถิ่น ถึงระดับกำนันผู้ใหญ่บ้านและน่วยงานต่างๆ ได้มีการพูดคุยกันเรื่องการปรับโครงสร้างการเกษตรของเราให้ดีขึ้นให้ประชาชนมีรายได้สูงขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงทั้งขั้นตอนตลอดจนห่วงโซ่

 

"เมื่อวานได้ไปเยี่ยมชมในพื้นที่จริงเห็นความก้าวหน้า เป็นสิ่งที่เราและผมต้องทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีตรงนี้ ในฐานะที่ผมบริหารในภาพรวมตรงนี้คือหน่วยงานข้าราชการทั้งหมดในสังกัดของรัฐบาล ทุกกระทรวง ทุกกรมและทุกหน่วยงานเทียบเท่ามากมายนี่เป็นแค่ส่วนหนึ่งที่เข้ามารับรางวัล ผมอยากมอบรางวัลให้ครบทุกหน่วยงานด้วยซ้ำไปกี่ร้อยหน่วยงานก็พร้อมยินดีจะมอบ ขอทุกคนเพียงช่วยกันทำ ถ้าเทียบสัดส่วนกันแล้วในส่วนที่รับรางวัลไม่ว่าจะดีเยี่ยม ดีเลิศ ยังเป็นสัดส่วนที่เป็นส่วนหนึ่งแต่ผมอยากมอบให้กับทุกหน่วย" พล.อ.ประยุทธ์​ กล่าว

 

พล.อ.ประยุทธ์​ กล่าวว่า วันนี้เราได้รับการชื่นชมหลายอย่างจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการบริหารการเงินการคลังของเราได้รับความชื่นชมและความเชื่อมั่นมากมาย ซึ่งยิ่งต้องทำตัวเราให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ให้ดีกว่านี้ ไม่มีอะไรดีที่สุดเพราะสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปทุกวัน สถานการณ์โลกก็เปลี่ยน กฎระเบียบของโลกใบนี้ซึ่งเป็นโลกใบเดิมแต่เป็นกฎระเบียบโลกใหม่ที่มีการจัดระเบียบมากมาย เราจำเป็นต้องนำทุกอย่างมาวิเคราะห์พิจารณาว่าจะพัฒนาหน่วยงานของเราอย่างไรให้ได้รับการยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพราะล้วนมีผลด้วยกันทั้งสิ้น

 

"ขอให้ทุกคนรักษาความดีนี้ไว้ ไม่มีใครรู้เท่ากับเรารู้ตัวเองว่าเราทำงานดีหรือไม่ดีอย่างไร สิ่งต่างๆจึงเป็นสิ่งที่เราต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับพี่น้องประชาชนทุกคนโดยรวมและต้องสร้างความรักของประเทศให้ทุกคนได้มั่นใจว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่เขาให้ความเชื่อมั่น"นายกรัฐมนตรีกล่าว

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการขนส่งทางบก ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) แถลงข่าวระบบบันทึกคะแนนความประพฤติในการขับรถ

วันที่ 1 ธันวาคม 2565 เวลา 10.00 น. ณ ห้องศรียานนท์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก นายพงษ์สิทธิ์ ชัยฉัตรพรสุข รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน สายงานกำกับกฎเกณฑ์และกฎหมาย ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และพันเอก สรรพชัยย์ หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วย พล.ต.ท.ธนา ชูวงศ์ ผู้ช่วย ผบ.ตร.พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.วีระ จิรวีระ รอง จตช. และผู้บริหารของทั้ง 4 หน่วยงาน ได้ร่วมกันแถลงข่าวประชาสัมพันธ์ระบบบันทึกคะแนนความประพฤติในการขับรถ หรือระบบตัดแต้ม และความร่วมมือระหว่างหน่วยงานเพื่อสร้างระบบดังกล่าว ให้ดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมาตรฐานสากล ระบบบันทึกคะแนนความประพฤติ กำหนดไว้ใน “ระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับระบบการบันทึกคะแนนความประพฤติในการขับรถของผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่ พ.ศ.2565” ซึ่งออกตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 142/1 โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 มกราคม 2566 ซึ่งจะเป็นมาตรการเสริมในการสร้างวินัยการขับขี่เพิ่มเติมจากการออกใบสั่งเพื่อบังคับใช้กฎหมายตามปกติ ภายใต้สโลแกน “มุ่งเน้นการสร้างวินัยการขับขี่ปลอดภัย ให้โอกาสแก้ไขไม่กระทำผิดซ้ำ สร้างความเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมาย และเป็นมาตรฐานสากล”

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์  กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. กล่าวว่า สาระสำคัญของระบบนี้ คือ กำหนดให้ผู้ที่มีใบอนุญาตขับขี่แต่ละราย จะมีคะแนนความประพฤติคนละ 12 คะแนน  (ไม่ว่าผู้นั้นจะได้รับใบอนุญาตขับขี่กี่ชนิดก็ตาม) หากทำผิดตามกฎจราจรในข้อหาที่ระบุไว้ จะถูกตัดคะแนนตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด ดังนี้ 
การตัดคะแนน 
1) กลุ่มความผิดหลักที่เป็นปัจจัยในการเกิดอุบัติเหตุ (20 ฐานความผิด) จะถูกตัดคะแนนเมื่อทำผิดทันที โดยความผิดในกลุ่มนี้แบ่งเป็น 4 ระดับ ได้แก่
 - ตัด 1 คะแนน  เช่น ขับรถเร็วเกินกำหนด ไม่สวมหมวกนิรภัย ไม่รัดเข็มขัดนิรภัย ไม่หยุดให้คนข้ามทางม้าลาย ใช้โทรศัพท์ขณะขับรถ
 - ตัด 2 คะแนน  เช่น  ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร (ฝ่าไฟแดง)  
 - ตัด 3 คะแนน  เช่น ขับรถชนแล้วหนี 
 - ตัด 4 คะแนน  เช่น เมาแล้วขับ ขับรถในขณะเสพยาเสพติด 
2) กลุ่มความผิดอื่นๆ ตามกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก และกฎหมายที่เกี่ยวกับรถหรือการใช้ทาง จำนวน 42 ฐานความผิด ตามบัญชีท้ายระเบียบ ความผิดกลุ่มนี้จะถูกตัดคะแนนเฉพาะกรณีไม่ชำระค่าปรับตามใบสั่งในเวลาที่กำหนดเท่านั้น เช่น ฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจรในทาง จอดในที่ห้ามจอด ไม่แสดงใบอนุญาตขับขี่ขณะขับรถ เป็นต้น 

วิธีการตัดคะแนนนั้น จะดำเนินการโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยใช้ระบบฐานข้อมูลใบสั่ง PTM ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการบันทึกการทำผิดกฎจราจรและตัดคะแนนในแต่ละครั้ง  

การสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่
- หากผู้ขับขี่ถูกตัดคะแนนจนเหลือ 0 คะแนน  จะถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ หรือห้ามขับรถ (ทุกประเภท) เป็นเวลา 90 วัน โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเป็นผู้มีหนังสือแจ้งคำสั่งดังกล่าว และหากฝ่าฝืนไปขับรถในขณะถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 156  
- หากถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่เป็นครั้งที่ 3 ภายใน 3 ปี อาจจะถูกสั่งพักใช้มากกว่า 90 วัน  และหากยังถูก
สั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่อีกเป็นครั้งที่ 4 อาจถูกพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่

ราคายางยังคงผันผวน! พิษจากโควิด/สงครามรัสเซีย-ยูเครน

“อลงกรณ์” ชี้แม้ไทยส่งออกยางธรรมชาติทะลุ 2 แสนล้านเพิ่มขึ้นกว่า 20% แต่ราคายังผันผวนจากผลกระทบของโควิดและสงครามรัสเซีย-ยูเครน มอบ ”กยท.”เร่งเดินหน้าขยายมาตรการชะลอขายยางเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามและเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางและรักษาเสถียรภาพราคายาง เปิดเผยวันนี้ (1 ธ.ค.65) ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 5/2565ว่าที่ประชุมได้รับทราบรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจตลาดยางพาราในประเทศคู่ค้าที่สำคัญจากทูตเกษตร ประจำสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศในแต่ละภูมิภาคทั่วโลก โดยทูตเกษตรจากสหภาพยุโรป (สำนักงานบรัสเซลส์) อิตาลี (สำนักงานกรุงโรม) สหรัฐอเมริกาและอเมริกาใต้ (สำนักงานกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.และลอสแองเจลิส) ออสเตรเลีย รัสเซีย จีน ญี่ปุ่น อาเซียน (สำนักงานกรุงจาการ์ต้า) ซึ่งจากรายงานสถานการณ์การผลิต การค้า และการแข่งขันของตลาดยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางทั่วโลก ทั้งจากรายงานสถานการณ์ปัญหาสงครามรัสเซียยูเครน ยังคงส่งผลกระทบต่อการส่งออกยางและผลิตภัณฑ์ยางไทย

 

โดยสถานการณ์การส่งออกยางและผลิตภัณฑ์ยางไทยไปยังรัสเซียยังคงหดตัว อีกทั้งผู้ประกอบการอุตสาหกรรมหนักอยู่ในระยะ wait and see mode และสต๊อคยางในรัสเซียยังล้นตลาดถึง 43 % ในสหรัฐอเมริกา เกิดภาวะเงินเฟ้อสูง และสถานการณ์โควิดในประเทศจีนรุนแรง หลายพื้นที่ล็อคดาวน์ยังพบผู้ติดเชื้อสูงโดยในเดือนพฤศจิกายน จีนพบผู้ติดเชื้อกว่า 49,479 ราย ไม่แสดงอาการ 448,350 ราย ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการค้าในจีน ซึ่งจากสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลกได้ส่งผลกระทบต่อราคาและการส่งออกยางพาราของไทย

ที่ประชุมยังรับทราบรายงานสถานการณ์ยางพารา เดือนพฤศจิกายน 2565 และคาดการณ์เดือนธันวาคม 2565 โดยฝ่ายเศรษฐกิจยาง การยางแห่งประเทศไทย ได้รายงานคาดการณ์ปริมาณผลผลิตยางพารา ปี 2565 มีปริมาณ 4.754 ล้านตัน ในช่วงไตรมาส 4/65 มีปริมาณผลผลิตยางพาราสูงกว่าทุกไตรมาส มีปริมาณ 1.432 ล้านตัน การส่งออกในไตรมาสที่ 3/65 ไทยส่งออกรวม 1.150 ล้านตัน ยังอยู่ในระดับเดียวกับปีก่อน สำหรับช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค.2565 คาดการณ์ว่าปริมาณการส่งออกอาจจะชะลอตัวเล็กน้อย เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า แต่ปริมาณสูงกว่าช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา โดยมูลค่าการส่งออกยางธรรมชาติของไทย ปี 2565 (ม.ค.-ก.ย. 2565) มีมูลค่า 216,528 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.99 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งออกไปยังประเทศจีน มากที่สุด มีมูลค่า 107,352 ล้านบาท รองลงมาได้แก่ มาเลเชีย มูลค่า 19,153 ล้านบาท สหรัฐอเมริกามูลค่า 15,414 ล้านบาท ญี่ปุ่น มูลค่า 11,905 ล้านบาท เกาหลีใต้ มูลค่า 9,891 ล้านบาท และประเทศอื่น ๆ มูลค่า 52,813 ล้านบาท


TRENDING
© Copyright 2022, All rights reserved. South Time Thailand
Take Me Top