ประจวบฯ พิจารณาปิดด่านสิงขร เหตุชิปปิ้งบางราย ทำน้ำเน่าเสีย

วันที่ 17 มีนาคม 2565 ที่ห้องประชุมกองร้อยตำรวจตระเวนชายแดน 146 ด่านสิงขร อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ นายชัยวุฒิ คุณาธิมาพันธ์ รักษาการป้องกันจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นประธานประชุมร่วมระหว่างผู้ประกอบการขนส่งสินค้า (ชิปปิ้ง) และหน่วยงานราชการ ประกอบด้วย ศุลกากร, ตม., ประมง, สาธารณสุข, ด่านกักกันสัตว์ห้วยยา, ทหาร ฉก.จงอางศึก, ตชด.146, ฝ่ายปกครองอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ พร้อมสื่อมวลชนจากส่วนกลางเพื่อหามาตรการรักษาความสะอาดที่ลานขนถ่ายสินค้า พรหมแดนระหว่างสองประเทศ (No Man’s Land) จุดตรวจด่านสิงขร

 

โดยก่อนหน้านี้ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้รับการร้องเรียนจากเจ้าหน้าที่ว่า บริเวณดังกล่าวมีปริมาณรถขนถ่ายสินค้าวันละ 40–50 คัน ขนถ่ายสินค้าประมงซึ่งมีน้ำเป็นส่วนประกอบ ได้มีน้ำเสียจากซากสัตว์ไหลลงพื้นดิน น้ำขังเจิ่งนอง เน่าเสีย มีแมลงวันหัวเขียวตัวใหญ่เกาะกินเศษอาหาร ส่งกลิ่นเหม็นรุนแรง รัศมีไปไกลกว่า 100 เมตร กระทบต่อเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และทหาร ฉก.จงอางศึก ที่มีฐานปฏิบัติการใกล้เคียงกัน

 

ซึ่งก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่รัฐหลายหน่วยได้ขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการที่มีอยู่ จัดการเรื่องขยะ สิ่งเน่าเสีย และน้ำขังให้สะอาด จากที่เคยมีมาตรการที่เข้มงวดในช่วงการแพร่ระบาดโควิดปี 2563 – 2564 ที่มีคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการชายแดนไทย-เมียนมาร์ ผ่อนผันให้มีการขนส่งสินค้าเฉพาะอาหารแห้งเท่านั้น เพื่อป้องกันเชื้อโรคมากับวัตถุดิบที่มีความชื้นแฉะ ซึ่งในปัจจุบันสามารถขนส่งวัตถุดิบอาหารทะเลได้ ส่วนใหญ่เป็นหอย ปู กุ้ง หมึก แมงกะพรุนดองเค็ม แมงดา และปลาชนิดต่าง ๆ โดยมีน้ำแข็งเป็นส่วนประกอบ

 

ส่งผลให้รถที่มาจากฝั่งเมียนมาร์ที่จอดบริเวณโนแมนแลนด์ เพื่อทำการขนถ่ายสินค้ามายังรถบรรทุกไทย มีน้ำไหลจากจากภาชนะบรรจุอาหารทะเล ไหลนองพื้น ส่งกลิ่นเหม็น เนื่องจากด่านสิงขรเป็นจุดผ่อนปรนชั่วคราว ไม่มีลานขนถ่ายสินค้าที่ถูกต้องตามหลักสาธารณสุข ประกอบกับอาคาร CIQ ที่มีหน่วยงานศุลกากร ตม. และด่านตรวจกักกันพืชและสัตว์ ยังไม่สามารถเปิดให้บริการ จึงต้องใช้พื้นที่ว่างพรหมแดนระหว่างสองประเทศเป็นลานขนถ่ายสินค้าชั่วคราว จึงไม่มีระบบบำบัดน้ำเสียอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ปล่อยให้น้ำไหลลงพื้นอย่างอิสระ ขณะที่ผู้ประกอบการหลายรายทำงานในลักษณะต่างคนต่างอยู่ ไม่มีความร่วมมือระหว่างกัน จึงไม่สามารถบริหารจัดการให้เป็นระเบียบได้ ซึ่งบางรายควบคุมรถขนส่งได้ดี แต่บางรายก็ปล่อยปะละเลย กระทบการค้าขายชายแดนทั้งระบบ

 

สาเหตุจากช่วงที่ผ่านมา มีการจับกุมการแจ้งปริมาณการนำเข้าสินค้าของผู้ประกอบการไม่ตรงตามจริง เช่น แมงกะพรุนดองเกลือ ลักลอบส่งถังแก๊สหุงต้ม ทำให้รัฐเสียโอกาสจัดเก็บรายได้ไม่ถึงเป้า และสภาพแวดล้อมบริเวณดังกล่าวมีกลิ่นรุนแรง กระทบสุขอนามัยของผู้ปฏิบัติงาน พร้อมทั้งขอให้รถบรรทุกที่มาจากเมียนมาร์นำขยะ เศษซากอาหารและน้ำ กลับไปกำจัดยังฝั่งของตนเอง ห้ามมิให้นำมาทิ้งบริเวณพรหมแดนระหว่างสองประเทศ

.

นายชัยวุฒิ คุณาธิมาพันธ์ กล่าวว่า ขอให้ผู้ประกอบการร่วมมือกันจัดระเบียบการขนถ่ายสินค้า และความสะอาด เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของจังหวัดและการค้าขายชายแดน หากผู้ประกอบการไม่สามารถดำเนินการตามที่ตกลงได้ อาจมีคำสั่งระงับการนำเข้าส่งออกสินค้าชั่วคราว จนกว่าจะมีการปฏิบัติตามมาตราการของจังหวัดให้เรียบร้อยเสียก่อน

 

โดยทางจังหวัดได้ออกมาตรการให้ผู้ประกอบการ

1. ให้ถุงบรรจุอาหารทะเลสด ใส่ในถุงสองชั้น และผูกมัดปากให้สนิท

2. ถุงต้องบรรจุอยู่ในถังพลาสติก และมีถังพลาสติกรองรับน้ำระหว่างรถบรรทุกทั้งสองคัน ป้องกันไม่ให้น้ำไหลลงพื้น

3. ต้องแจ้งการเข้าออกสินค้าให้ถูกต้องการพิกัดศุลกากร ทุกประเภท ชนิด ปริมาณและน้ำหนัก

4. ต้องทำความสะอาดทุกวัน มีการโรยปูนขาวฆ่าเชื้ออาทิตย์ละสองครั้ง เก็บเศษขยะที่แรงงานนำอาหารมารับประทานระหว่างขนส่งสินค้า

 

นายอำนาจ มณีแดง รองประธานหอการค้า จ.ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ตัวเลขการนำเข้าสินค้าจากประเทศเมียนมาร์ ปี 2565 ตั้งแต่เดือนมกราคม – ธันวาคม มีมูลค่า 1,163 ล้านบาท ตัวเลขส่งออกมีมูลค่า 110 ล้านบาท โดยร้อยละ 90 ของสินค้านำเข้าเป็นอาหารทะเล ส่วนเดือนมกราคม 2566 มีมูลค่าการนำเข้า 201 ล้านบาท ส่งออก 14 ล้านบาท คาดการณ์มูลค่าการนำเข้าส่งออกปี 2566 ประมาณ 1,800 ล้านบาท

 

นอกจากนี้อาคารหลายจุดบริเวณจุดผ่อนปรนพิเศษด่านสิงขรยังค้างชำระค่าบริการไฟฟ้าแก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอีกหลายแสนบาททำให้การบริหารจัดการที่ดีนั้นเป็นไปได้ยาก

 

#เซาท์ไทม์