พัฒนาขนส่งใต้ อัปเดต Landbridge ชุมพร-ระนอง เผย 2 ตำแหน่งท่าเรือไหน เหมาะสุด

ความคืบหน้าล่าสุด #Landbridge ชุมพร-ระนอง 

สรุปตำแหน่งท่าเรือน้ำลึก และเส้นทาง MR8 เชื่อม 2 ฝั่งทะเล

 

ตามที่ได้สัญญาไว้เรื่องความคืบหน้าโครงการ Land bridge ชุมพร-ระนอง เลยเอาความคืบหน้าภาพรวมมาเล่าให้เพื่อนๆฟังกันหน่อยครับ

 

โดยล่าสุดทางที่ปรึกษาได้มีการทำการเปรียบเทียบตำแหน่ง ของท่าเรือทั้ง 2 ฝั่ง พร้อมกับเปรียบเทียบเส้นทาง เพื่อก่อสร้างถนนเชื่อมโยงท่าเรือ 2 ฝั่งทะเล โดยเป็นโครงการเร่งด่วนตามแผน MR-Map เส้นทาง MR8

 

รายละเอียด MR8 Landbridge ชุมพร-ระนอง ก่อนหน้านี้

https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=1364108297360979&id=491766874595130

 

เรามาเริ่มกันที่ตำแหน่งท่าเรือกันก่อน

 

โดยแบ่งเป็น 2 ฝั่งทะเลคือ

- ฝั่งอันดามัน (ระนอง)

- ฝั่งอ่าวไทย (ชุมพร)

 

ฝั่งอันดามัน ได้มีการเปรียบเทียบในขั้นตอนสุดท้าย ทั้งหมด 3 ตำแหน่ง ได้แก่

- เกาะตาวัวดำ

- เกาะสน

- แหลมอ่าวอ่าง

 

ฝั่งอ่าวไทย ได้มีการเปรียบเทียบในขั้นตอนสุดท้าย ทั้งหมด 3 ตำแหน่ง ได้แก่

- แหลมประจำเหียง

- แหลมริ่ว

- แหลมคอเขา

 

ซึ่งมีการเปรียบเทียบในด้านความเหมาะสมด้านการเดินเรือ, การพัฒนาท่าเรือ, มูลค่าการลงทุนทั้งด้านการเงินและเศรษฐกิจ ผลกระทบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม 

 

ทำให้มีการเลือกตำแหน่งที่เหมาะสมที่สุดคือ

- ฝั่งอันดามัน ที่ แหลมอ่าวอ่าง

- ฝั่งอ่าวไทย ที่ แหลมริ่ว

 

*** รายละเอียดดูได้จากรูปภาพแนบด้านล่าง ***

 

หลังจากได้ตำแหน่งท่าเรือที่เหมาะสมแล้วก็มาลงเส้นทางถนน เพื่อเชื่อมโยงท่าเรือทั้ง 2 ฝั่งต่อ

 

โดยในเส้นทาง MR8 ชุมพร-ระยอง นี้จะมีส่วนประกอบที่มากกว่าถนนธรรมดา ซึ่งรวมการขนส่งทุกรูปแบบมารวมกันได้แก่

- Motorway 

- ทางรถไฟขนาดราง 1 เมตร (เชื่อมต่อรถไฟทางคู่ในประเทศ)

- ทางรถไฟขนาดราง 1.435 เมตร (เส้นทางพิเศษเพื่อเชื่อมโยงระหว่าง 2 ท่าเรือ รองรับตู้คอนเทนเนอร์ 2 ชั้น ***ในระยะยาว)

- ท่อส่งน้ำมัน และก๊าซ

- ถนนเลียบเลียบทางรถไฟ (local road)

 

ซึ่งทั้งหมดนี้ ต้องเผื่อเขตทาง 160 เมตร เพื่อรองรับในอนาคตทั้งหมด แต่ในเฟสแรกอาจจะมีแค่บางส่วนเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการจริง

 

โดยเปรียบเทียบเป็น 3 ทางเลือก ได้แก่

1. เส้นทางตัดตรง จากท่าเรือแหลมริ่ว-ท่าเรืออ่าวอ่าง มีระยะทาง 80 กิโลเมตร

2. เส้นทางปรับตามภูมิประเทศ ผ่านอำเภอหลังสวน อำเภอพะโต๊ะ อำเภอเมืองระนอง และ อ้อมลงทางทิศใต้ เข้าสู่ท่าเรืออ่าวอ่าง มีระยะทาง 89 กิโลเมตร

3. เส้นทางตามเส้นทางที่ 2 แต่มีการตัดข้ามทะเลก่อนเข้าท่าเรืออ่าวอ่าง ตามเส้นทางที่ 1 มีระยะทาง 88.7 กิโลเมตร

 

ซึ่งจากการเปรียบเทียบ ทั้ง 3 เส้นทาง เส้นทางที่ 2 เป็นเส้นทางที่เหมาะสมที่สุด

ใครที่สนใจสามารถตามโครงการได้จากเว็บไซด์ http://landbridgethai.com

 

คลิปรายละเอียดโครงการ

https://youtu.be/SiVrV8MtJwc

 

โดยหลังจากได้ตำแหน่งทั้งท่าเรือ และเส้นทางเชื่อมโยง 2 ท่าเรือแล้ว ก็จะมีการกระจายโครงการไปยังหน่วยงานต่างๆในการศึกษารายละเอียดเพื่อทำแบบก่อสร้าง และการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมโดยละเอียด เพื่อจะนำเสนอขออนุมัติต่อไป

 

หวังว่าโครงการนี้ถ้าศึกษาออกมา จะเป็นไปตามความต้องการของทั้งนักลงทุน และประชาชนในพื้นที่ เพราะสุดท้าย ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีข้อขัดแย้ง หรือไม่เห็นด้วยกับโครงการ ก็คงเกิดไม่ได้ และเสียโอกาสในการพัฒนา ประตูฝั่งอันดามันกันต่อไป!!!

 

ที่มา โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย