อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 4

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี  มีมติอนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 4 โดยประกันรายได้ให้เกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อมูลพื้นที่กับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2565 จำนวนทั้งสิ้น 1,604,379 ราย (เจ้าของสวน ผู้เช่า ผู้ทำ 1,372,865 ราย และคนกรีดยาง 231,514 ราย) คิดเป็นพื้นที่ปลูกยาง รวม 18,183,764.59 ไร่

 

ซึ่งเป็นสวนยางอายุ 7 ปีขึ้นไปที่เปิดกรีดแล้ว กำหนดราคาประกันผลผลิตยางแต่ละชนิด ดังนี้ ยางแผ่นดิบคุณภาพดี 60 บาท/กิโลกรัม น้ำยางสด (DRC 100%) 57 บาท/กิโลกรัม และยางก้อนถ้วย (DRC 50%) 23 บาท/กิโลกรัม แบ่งสัดส่วนรายได้ เจ้าของสวน ร้อยละ 60 และคนกรีด ร้อยละ 40 ของรายได้ทั้งหมด รายละไม่เกิน 25 ไร่ ระยะเวลาประกันรายได้ 2 เดือน (ตุลาคม – พฤศจิกายน 2565) งบประมาณโครงการฯ รวม 7,643,857,284.15 บาท

 

โดยจะเริ่มจ่ายเงินถึงมือเกษตรกรชาวสวนยางภายในเดือนมีนาคมนี้
ด้านนางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่าการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้ (28 ก.พ.) ได้มีมติอนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 4 วงเงินรวม 7,643 ล้านบาท ตามที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ กับนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เสนอ สำหรับโครงการนี้มีขึ้นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกรชาวสวนยางในช่วงที่ราคายางผันผวน

 

ซึ่งปีนี้กำหนดเป้าหมายเกษตรกรชาวสวนยาง 1.6 ล้านราย พื้นที่สวนยางกรีดได้ 18.18 ล้านไร่ โดยให้เกษตรกรขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ภายในวันที่ 30 มิ.ย. 65 ซึ่งดำเนินการการขึ้นทะเบียนเสร็จสิ้นไปแล้ว

 

นอกจากนี้ ครม. ยังอนุมัติโครงการคู่ขนานสนับสนุนสินเชื่อหรือเงินกู้เป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการไม้ยาง และผลิตภัณฑ์ระยะที่ 2 เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบกิจการแปรรูปไม้ยางพาราด้วย


อย่างไรก็ตาม การอนุมัติครั้งนี้เป็นไปตามมติการประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.)

 

เมื่อวันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยโครงการดังกล่าวใช้เงินทุนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำรองจ่ายแทนรัฐบาลไปก่อน จำนวน 7,421 ล้านบาท และให้ ธ.ก.ส. เสนอขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 และปีต่อๆ ไปตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอน

 

เพื่อรัฐบาลชำระคืนต้นเงินและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงจากการดำเนินโครงการ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการโอนเงิน กว่า 8 ล้านบาท และชดเชยต้นทุนทางการเงินของธนาคารประจำไตรมาส บวก 1 ภายในวงเงินไม่เกิน 137 ล้านบาท ปีละ 1,600 ล้านบาท ยกเว้นปีที่ 5 จ่ายส่วนที่เหลือทั้งหมด เห็นชอบค่าบริหารจัดการโครงการ 77 ล้านบาท

 
โดยให้ กยท. เสนอขอรับจัดสรรจากงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นประจำปีงบประมาณ 2566 ซึ่งเท่ากับว่าโครงการประกันรายได้ยางพาราเดินหน้าปีที่ 4 ครอบคลุมตลอดปี 66 แม้มีการยุบสภาหรือมีการเลือกตั้ง และหลังจากมีการปรับเปลี่ยน ครม. แต่การดำเนินโครงการจะต้องดำเนินให้สิ้นสุดระยะ 4 หรือปีที่ 4 ตามมติ ครม. ในวันนี้