15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2497 ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ เปิด ‘ตึกวชิราลงกรณธาราบำบัด’ รพ.พระมงกุฎเกล้า

ครบรอบ 69 ปี ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จเปิด ‘ตึกวชิราลงกรณธาราบำบัด’ รพ.พระมงกุฎเกล้า อาคารที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับผู้ป่วย และต่อสู้กับสภาวะโรคโปลิโอระบาดในขณะนั้น

ย้อนไปในอดีต ประเทศไทยเคยผ่านสถานการณ์การระบาดของโรคภัยต่าง ๆ มาไม่น้อย เหมือนเมื่อครั้งหนึ่ง ที่ประสบกับภาวะโรคโปลิโอระบาด แต่ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงเล็งเห็นถึงปัญเหล่าของพสกนิกร จึงมีพระราชดำริให้จัดการแก้ไข และขจัดโรคนี้ให้หมดไป

เรื่องราวของโรคโปลิโอระบาดในเมืองไทย เกิดขึ้นเมื่อราวปี พ.ศ. 2495 ขณะนั้นเมืองไทยมีผู้ป่วยด้วยโรคโปลิโอ หรือโรคไขสันหลังอักเสบเป็นจำนวนมาก ซึ่งผู้ป่วยโรคนี้ จำเป็นต้องมีอุปกรณ์ ตลอดจนเวชภัณฑ์ต่าง ๆ ในการรักษา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ให้จัดซื้อเครื่องช่วยหายใจจากต่างประเทศ จำนวน 3 เครื่องให้กับผู้ป่วย รวมถึงพระราชทานเงินจัดตั้ง ‘กองทุนโปลิโอสงเคราะห์’ เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคนี้ให้หายเป็นปกติ

ต่อมาทรงมีโอกาสเสด็จพระราชดำเนินไปที่ตึกรังสี รพ.พระมงกุฎเกล้า และได้ทอดพระเนตรกิจการของกองรังสีกรรมและแผนกกายภาพบำบัด ซึ่งรวมถึงงาน ‘ธาราบำบัด’ ที่เป็นหนึ่งในการรักษาผู้ป่วยโปลิโอ โดยเป็นการใช้น้ำช่วยพยุงร่างกายระหว่างการบริหารและฟื้นฟูกล้ามเนื้อ

หลังจากนั้นจึงทรงพระราชทานทรัพย์จำนวน 250,000 บาท จากกองทุนโปลิโอสงเคราะห์ เพื่อเป็นค่าเครื่องเวชภัณฑ์ และโปรดให้ก่อสร้าง ‘ตึกวชิราลงกรณธาราบำบัด’ โดยพระราชทานพระนามของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช (พระยศในณะนั้น) เป็นชื่ออาคาร ทั้งนี้เพื่อใช้เป็นสถานที่ดูแลรักษาผู้ป่วยด้วยโรคนี้

อาคารวชิราลงกรณธาราบำบัด สร้างแล้วเสร็จในวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2496 ต่อมาในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2497 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ (พระยศในขณะนั้น) และพระบาทสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช (พระยศในขณะนั้น) ได้เสด็จฯ ทรงเปิด ตึกวชิราลงกรณธาราบำบัด ณ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า อย่างเป็นทางการ

เวลาผ่านพ้นไปจนถึงวันนี้ ปัจจุบันแทบไม่มีรายงานผู้ป่วยด้วยโรคโปลิโออีกแล้ว โดยเมื่อปี พ.ศ. 2557 องค์การอนามัยโลกประกาศว่าโรคโปลิโอถูกกำจัดหมดไปจากภูมิภาคเอเชียตะวันออก เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในประเทศไทยที่ไม่พบผู้ป่วย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงห่วงใยและใส่พระทัยในการขจัดปัญหาการระบาดในครั้งนั้น