4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2445 ร.5 ทรงเปิดโรงกษาปณ์สิทธิการ แห่งที่ 3 พร้อมเครื่องจักรผลิตเหรียญกษาปณ์ไฟฟ้าครั้งแรก

ความเจริญก้าวหน้าด้านการค้าของประเทศ ส่งผลให้ความต้องการใช้ เหรียญกษาปณ์เพิ่มสูงขึ้นในขณะที่เครื่องจักรแรงดันไอน้ำที่มีอยู่เริ่ม ชำรุดเนื่องจากใช้ติดต่อกันมาเป็นเวลานาน ถึง 25 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงกษาปณ์สิทธิการแห่งใหม่ขึ้นในบริเวณอันเป็นที่ตั้งของวังเจ้านาย 6 พระองค์ ซึ่งเรียกสถานที่นี้ว่า ‘วังสะพานเสี้ยว’ ริมคลองหลอดด้าน ถนนเจ้าฟ้าทางทิศเหนือของท้องสนามหลวง โดยมีลักษณะเป็นอาคาร ก่ออิฐถือปูน สูง 2 ชั้น มีรูปแบบเป็นสถาปัตยกรรมตะวันตก เมื่อย้ายโรงกษาปณ์ไปอยู่สถานที่แห่งใหม่แล้ว กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติคือ ‘หอศิลป์แห่งชาติถนนเจ้าฟ้า’ ในปัจจุบัน

พิธีเปิดโรงกษาปณ์แห่งที่ 3 อย่างเป็นทางการมีขึ้น เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2445 และได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น ‘กรมกษาปณ์ สิทธิการ’ ติดตั้งเครื่องจักรผลิตเหรียญกษาปณ์เครื่องใหม่ ซึ่งทำงานด้วยกำลังไฟฟ้าสามารถผลิตเหรียญได้ประมาณวันละ 80,000 ถึง 100,000 เหรียญ โดยไม่ต้องทำการล่วงเวลา ส่วนเงินพดด้วงได้ โปรดเกล้าฯ ให้เลิกใช้ภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2451

เมื่อมีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติมาตราทองคำ รัตนโกสินทร์ศก 127 (พ.ศ. 2451) ได้ทรงพระกรุณาโปรด เกล้าฯ ให้ผลิตเหรียญกษาปณ์ชนิดราคา 1 บาทตราพระบรมรูปตราไอราพต จากโรงกษาปณ์ปารีส จำนวน 1,036,691 เหรียญ แต่ไม่ทันได้ประกาศใช้ก็สิ้นรัชกาลเสียก่อน โดยตราไอราพตได้ใช้เป็นตราประจำแผ่นดินเรื่อยมาจนสิ้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ประเทศไทยได้รับผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากสงครามโลกครั้งที่ 1 โลหะที่ใช้ในการ ผลิตเหรียญกษาปณ์มีราคาสูงขึ้น จึงต้องลดส่วนผสมของโลหะเงินลงและผลิตธนบัตร ราคา 1 บาทออกใช้แทน เหรียญกษาปณ์

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำเนินนโยบายต่าง ๆ หลายประการ เพื่อประคองสภาวการณ์ทาง เศรษฐกิจของประเทศให้สมดุลกับภาวะเศรษฐกิจโลกและป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น แต่ก็ยังไม่อาจ หลีกเลี่ยงได้เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกเป็นไปอย่างกว้างขวางและรุนแรงจวบจนสิ้นรัชสมัยของพระองค์และต่อเนื่องไปถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงแก้ไขภาวะเศรษฐกิจของประเทศโดยในส่วนที่เกี่ยวกับการผลิตเงินตราทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ยุบฐานะของกรมกษาปณ์สิทธิการ ลงเป็นโรงงานขึ้นกับกรม ฝิ่นหลวง เหรียญที่ใช้ในรัชกาลนี้เป็นชนิดนิกเกิล 5 สตางค์ และชนิดทองแดง 1 สตางค์ที่นำเข้าจากต่างประเทศเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการผลิต และต้องงดผลิตเหรียญกษาปณ์เป็นเวลานานถึง 6 ปี โดยมีเหรียญ เงิน 50 สตางค์ และ 25 สตางค์ ตราพระบรมรูปช้างยืนแท่นเป็นเหรียญประจำรัชกาล

ต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปิดโรงงานกษาปณ์ขึ้นใหม่ เพื่อผลิตเหรียญกษาปณ์ออกใช้เอง เมื่อปีพุทธศักราช 2476 โดยตั้งขึ้นเป็น ‘แผนกกษาปณ์’ และโอนไปสังกัดกรมพระคลังมหาสมบัติ ต่อมาได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น ‘กองกษาปณ์’ สังกัดกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อานันทมหิดล เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 8 แห่งราชวงศ์จักรี ช่วงเวลานั้นประเทศไทยต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเกิดสงครามโลก ครั้งที่ 2 ในปีพุทธศักราช 2482 รัฐบาลได้แก้ไขปัญหาการขาดแคลนเงินปลีก อันเนื่องมาจากสินค้ามีราคาสูง ด้วยการนำเหรียญเงิน 2 สลึง ในคลังมาหลอมและผลิตเหรียญเงิน ราคา 20 สตางค์ 10 สตางค์ และ 5 สตางค์ ขึ้นใช้แทนการสั่งผลิตจากต่างประเทศ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการนำโลหะเงินมาผลิตเป็นเงินปลีก และเมื่อโลหะเงินและทองแดงมีราคาสูงขึ้น จึงได้นำ ดีบุกมาใช้ผลิตแทนเหรียญประจำรัชกาลนี้คือเหรียญดีบุกตราพระครุฑพ่าห์


ที่มา: http://www.royalthaimint.net/ewtadmin/ewt/mint_web/ewt_news.php?nid=219