20 ตุลาคม พ.ศ. 2520 พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ทำรัฐประหารซ้ำ ล้มรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร

20 ตุลาคม พ.ศ. 2520 พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุดและหัวหน้า คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ล้มรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร

รัฐประหาร 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520 เป็นการรัฐประหารอีกครั้งหนึ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยผู้ที่นำการรัฐประหาร คือ พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุดและหัวหน้า คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ล้มรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร

เหตุเนื่องจากการที่คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินที่นำโดย พล.ร.อ.สงัด ได้ทำการรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ. 2519 เนื่องจากในเหตุการณ์ 6 ตุลา และแต่งตั้ง นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี โดยรัฐบาลนายธานินทร์มีภารกิจสำคัญที่จะต้องกระทำคือ การปฏิรูปการเมืองภายในระยะเวลา 12 ปี ซึ่งทางคณะปฏิรูปฯเห็นว่าล่าช้าเกินไป ประกอบกับสถานการณ์ต่าง ๆ ในประเทศยังไม่สงบดีด้วย ดังนั้นจึงกระทำการรัฐประหารซ้ำอีกครั้ง ซึ่งอาจเรียกว่าเป็นการ รัฐประหารตัวเอง เพื่อกระชับอำนาจก็ว่าได้

โดยมีประกาศในการรัฐประหารไว้ดังนี้ การบริหารงานของรัฐบาล นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ไม่อาจแก้ปัญหาสำคัญของประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และอุตสาหกรรม ให้ลุล่วงไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการปิดกั้นเสรีภาพทางความคิดเห็นของประชาชน ตลอดจนท่าทีของรัฐบาลในการลอบวางระเบิดใกล้พลับพลาที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่จังหวัดยะลา

ผลจากการยึดอำนาจคือ ยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2519 ที่ใช้อยู่ขณะนั้น และมาใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2520 แทนจนกระทั่งถึงวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2521 จึงมาใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร พ.ศ. 2521 แทนและได้แต่งตั้ง พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดคนใหม่เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 15

เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521 แล้ว รัฐบาลพล.อ.เกรียงศักดิ์ ได้จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2522 หลังจากการเลือกตั้งแล้ว พล.อ.เกรียงศักดิ์ ก็ยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐสภาให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีก ทั้งนี้เพราะวุฒิสมาชิกซึ่งมีจำนวน 3 ใน 4 ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีส่วนในการกำหนดผู้ที่จะเป็นรัฐบาลด้วย วุฒิสมาชิกที่ได้รับการแต่งตั้งนี้คือผู้ที่กลุ่มที่มีอำนาจอยู่ในขณะนั้นเป็นผู้เสนอชื่อ ดังนั้นจึงสนับสนุน พล.อ.เกรียงศักดิ์ ซึ่งได้รับการวางตัวเป็นผู้นำของกลุ่ม

อย่างไรก็ตาม เมื่อบริหารประเทศภายใต้ระบบรัฐสภา ซึ่งมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 301 คนมาจากการเลือกตั้งมีส่วนในการควบคุมรัฐบาลอยู่บ้าง ยังดำเนินไปได้ไม่ครบปี พล.อ.เกรียงศักดิ์ ซึ่งเกษียณจากการเป็นทหารประจำการแล้วก็พบมรสุมการเมืองและวิกฤตเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจากน้ำมันที่ขึ้นราคา โดยถูกกลุ่มพรรคการเมืองฝ่ายค้าน 5 พรรคนำโดยหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคมยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี กำหนดจะเปิดอภิปรายในวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2523 แต่ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ได้ประกาศลาออกเสียก่อนเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523 กลางที่ประชุมรัฐสภา