ครม. เคาะงบกว่า 6 พันล้าน สร้าง 2 สะพานใต้ ข้ามทะเลสาบสงขลา + สะพานเชื่อมเกาะลันตา

ครม.ไฟเขียว สร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา และ สะพานเชื่อมเกาะลันตา รวมวงเงิน 2 โครงการ 6,695 ล้านบาท เพิ่มศักยภาพด้านเศรษฐกิจ พร้อมช่วยประชาชนเดินทางสะดวก

(18 ตุลาคม 2565) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม. อนุมัติดำเนินงานก่อสร้าง โครงการสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา – อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง ของกรมทางหลวงชนบท ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี ตั้งแต่ปี 2566 - 2568 วงเงินรวมทั้งสิ้น 4,841 ล้านบาท 

โดย ครม. กำชับ การดำเนินโครงการ จะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากพื้นที่โครงการ อยู่ใกล้ เขตพื้นที่ห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลหลวง เพียง 6 กม. เป็นบริเวณที่มีการกำหนดเป็นเขตคุ้มครอง โลมาอิรวดี ซึ่งในประเด็นนี้ธนาคารโลก ซึ่งจะเป็นผู้ให้กู้ตามโครงการ ได้แสดงความห่วงใยมา 

โครงการสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา จะช่วยลดระยะทางในการเดินทาง ระหว่างอำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา – อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง จาก 80 กิโลเมตร เป็น 7 กิโลเมตร และลดระยะเวลาในการเดินทางจาก 2 ชั่วโมง เป็น 15 นาที ช่วยพัฒนาเส้นทางการขนส่งโลจิสติกส์ และเส้นทางท่องเที่ยวสายใหม่ เชื่อมโยงทะเลอันดามัน – อ่าวไทย เชื่อม 3 จังหวัด คือตรัง – พัทลุง – สงขลา

ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนภาคการท่องเที่ยว ให้กับพื้นที่โดยรอบทะเลสาบสงขลา และจังหวัดใกล้เคียง ช่วยบรรเทาปริมาณจราจร ของถนนทางหลวง และแก้ปัญหาการจราจรที่ติดขัด ช่วยยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินทาง และในกรณีเกิดภัยพิบัติ สามารถอพยพประชาชนในพื้นที่ได้รวดเร็วทันการณ์ และยังช่วยสนับสนุนและอำนวยความสะดวก ด้านพาณิชยกรรม อุตสาหกรรมการบริการ และการท่องเที่ยว พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม และการบริการโลจิสติกส์ในพื้นที่

นอกจากนี้ ครม. ยังได้อนุมัติดำเนินงานก่อสร้าง โครงการสะพานเชื่อมเกาะลันตา ตำบลเกาะกลาง – ตำบลเกาะลันตาน้อย อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ของกรมทางหลวงชนบท ระยะทาง 2.2 กม. (ความยาวสะพาน 1.92 กม. และความยาวถนนต่อเชื่อม 280 เมตร) ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี ตั้งแต่ปี 2566-2568 ในวงเงินรวมทั้งสิ้น 1,854 ล้านบาท

ประโยชน์ที่จะได้รับจาก โครงการสะพานเชื่อมเกาะลันตา คือ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่ง ลดระยะเวลาการเดินทาง จากการเดินทางด้วยแพขนานยนต์ซึ่งจะใช้เวลา 2 ชั่วโมง ในขณะที่การใช้สะพานจะลดเวลาเหลือเพียง 2 นาที ช่วยเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมและการขนส่งให้เกิดความสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ลดระยะทางการเดินทางระหว่างอำเภอคลองท่อม และอำเภอเกาะ ลันตาน้อย จังหวัดกระบี่

อีกทั้ง ยังช่วยยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินทาง และในกรณีเกิดภัยพิบัติสามารถอพยพประชาชนในพื้นที่ได้รวดเร็วทันการณ์ ช่วยสนับสนุนและอำนวยความสะดวกด้านพาณิชยกรรม การบริการและการท่องเที่ยวระหว่างเกาะลันตาและแผ่นดินใหญ่ รวมถึงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและการบริการโลจิสติกส์ในพื้นที่